โลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 บีบให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อตามให้ทันพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี้ยนไป๋ เรียกว่าฉีกตำราเก่าทิ้งได้เลย ขอต้อนรับเข้าสู่โลกใหม่ยุคโควิด-19 ที่ไม่มีอะไรง่าย

 

ภาพจาก : www.pexels.com

 

ตั้งโจทย์ใหญ่เพื่อเจาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 “PwC ประเทศไทย” นำเสนอผลการสำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลก (Global Consumer Insights Survey) ประจำปี 2021 ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จำนวน 8,700 ราย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ่งชี้ชัดผู้บริโภคไทยเปลี้ยนไป๋อย่างสิ้นเชิง ไม่ต่างจากผู้บริโภคในซีกอื่นๆของโลก

 

ภาพจาก : www.pexels.com

 

“ช็อปปิ้งออนไลน์โตไว แต่ออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักในสินค้าบางประเภท” ผลการสำรวจพบว่า 38% ของผู้บริโภคชาวไทยยังคงเลือกจับจ่ายสินค้าจากหน้าร้าน (Physical Store) เป็นช่องทางหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าประเภทของชำ แต่ขณะเดียวกันก็จับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน 37%, ผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะ และอุปกรณ์สมาร์ทโฮมภายในบ้าน 31% ตามมาติดๆด้วยแท็บเล็ต 25% สอดคล้องกับแนวโน้มการช็อปปิ้งออนไลน์ที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในช่วงโควิด-19 โดยสินค้าออนไลน์ยอดนิยม มีตั้งแต่ สินค้าแฟชั่น, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม, สินค้าประเภททำได้ด้วยตัวเอง (DIY) และสินค้าการปรับปรุงบ้าน

 

ภาพจาก : www.pexels.com

 

“เทรนด์สุขภาพและความปลอดภัยมาแรง” มาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นในช่วงโควิด-19 เช่น จำกัดจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการภายในร้าน, การทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นประจำ หรือมีจุดบริการเจลล้างมือ กลายเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญที่สุดเมื่อต้องซื้อสินค้าจากหน้าร้าน โดยผลสำรวจระบุว่า 29% ของผู้บริโภคคำนึงถึงการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ของร้านค้า นอกจากนี้ การชำระเงินแบบไร้สัมผัสก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาซื้อสินค้าหน้าร้าน เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด ซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค

 

ภาพจาก : www.pexels.com

 

“ถึงเวลารัดเข็มขัด ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนนิสัยการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต” ผลสำรวจเผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 57% มีแนวโน้มจะลดค่าใช้จ่ายการรับประทานอาหารนอกบ้าน ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และเกือบ 1 ใน 2 ของผู้บริโภค คิดเป็น 47% มีแนวโน้มจะซื้ออาหารกลับมาทานที่บ้าน เพราะยังกังวลเรื่องความปลอดภัย จากการสำรวจยังบ่งชี้ว่า 44% ของผู้บริโภคตั้งใจลดการจับจ่ายใช้สอยด้านกิจกรรมอื่นๆ เช่น ศิลปะ, วัฒนธรรม และกีฬา ขณะที่ 41% อยากลดค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยว เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ เรียกว่าผู้บริโภคชาวไทยกำลังรัดเข็มขัดควบคุมการใช้จ่ายตึงเปรี๊ยะ

 

ภาพจาก : www.pexels.com

 

“เทรนด์ความยั่งยืนยิ่งมาแรง” การหันมาใส่ใจความยั่งยืนและความรู้สึกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริโภคชาวไทย ในฐานะพลเมืองของสังคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย 79% ของผู้ถูกสำรวจเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ขณะที่ 77% ต้องการซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ เกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคยังระบุว่า พวกเขาต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด แม้เราจะเห็นแนวโน้มของพฤติกรรมด้านความยั่งยืนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่วิกฤติโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องการความโปร่งใสและความยั่งยืนมากขึ้น พวกเขากำลังโหยหาธรรมชาติ มองหาความเท่าเทียมกันทางสังคม กลายเป็นพลเมืองโลกที่มีหัวใจอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ

 
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th