พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 ชั้น 4 โรงแรม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 18 องค์กรเข้าร่วมลงนาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้ เกี่ยวกับการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ซึ่งประธานในพิธี ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นทิศทางที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นในการส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาสังคมมากขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีเจตนารมย์สำคัญในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อม
ในฐานะที่ผมเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ร่วมกับคณะกรรมการทุกท่านดำเนินการหลายประการในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญเราสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจดทะเบียน และจดแจ้งวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจที่ต้องการพัฒนาตนเองไปเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันมีกิจการที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 148 กิจการ แบ่งเป็นประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร 124 กิจการ และประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคมประสงค์จะแบ่งปันกำไร 24 กิจการ ซึ่งประเภทแบ่งปันกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ และมีกิจการที่จดแจ้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม 10 กิจการ เพื่อเตรียมพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป ทำให้เห็นว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่สำคัญและเป็นภารกิจของภาครัฐและทุกองค์กรทั้ง 18 องค์กร ต้องร่วมกันขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มีความเข้มแข็งเพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งประธานในพิธี ได้ให้นโยบายสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหา และผลักดันเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม 4 ประเด็น คือ 1. เรื่องทุน ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันทางแนวทางช่วยเหลือวิสาหกิจเพื่อสังคมในปัจจุบันและที่กำลังก่อตั้ง 2. เรื่องการผลิตทั้งการพัฒนา ออกแบบ ภาคการผลิตสินค้า หรือบริการ 3. เรื่องการตลาด ให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาร่วมเป็นหน่วยงานสำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุน และ 4.เรื่องเทคโนโลยี มอบหมายให้ทุกองค์กรร่วมกันหาแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ต่อไป
รายชื่อ 18 องค์กร ที่ร่วมลงนาม MOU คือ
1) กระทรวงมหาดไทย
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
4) กระทรวงพาณิชย์
5) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
6) ธนาคารออมสิน
7) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
8) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
9) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
10) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด
11) สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
12) บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน)
13) สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
14) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
15) กลุ่มเซ็นทรัล
16) สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
17) สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
18) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)